บทความ

เตรียมตัวตายอย่างมีสติ

หลายคนอาจนึกบ่นในใจว่า จะบ้าหรือ ชีวิตทุกวันนี้ก็เครียดอยู่แล้ว ยังเอาเรื่องน่าหดหู่มาให้อ่านกันอีก ความตายเป็นมิติลึกลับที่ไม่ค่อยมีใครอยากรู้จัก ทั้ง ๆที่ความตายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตแต่เชื่อไหม หากคุณอ่านบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้จบแล้ว จิตใจของคุณจะสงบอย่างน่าประหลาด ความตายอาจไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัวอีกต่อไป " ยิ่งรู้จักความตายมากเพียงใด ชีวิตที่เหลืออยู่จะสงบสุขมากขึ้น " บางคนกล่าวเช่นนั้น

พระไพศาล วิสาโล อดีตปัญญาชนรุ่นใหม่ของสังคม ได้ละชีวิตฆราวาสตั้งแต่วัยหนุ่ม มุ่งสู่ชีวิตนักบวช เป็นเวลา ๒๑ พรรษาแล้ว ท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต บ้านท่ามะไฟ อำเภอแก้งคร้อ จังหวัดชัยภูมิ วัดป่าที่รู้จักกันดีในหมู่นักปฏิบัติธรรมทั่วประเทศ แต่ท่านมักจำพรรษาอยู่บนภูเขาที่วัดป่ามหาวัน สำนักสงฆ์อีกแห่งที่อยู่ไม่ไกลกัน เพื่อดูแลไม่ให้ใครมาตัดไม้ทำลายป่าบริเวณนั้น วันที่ สารคดี ขึ้นไปหาท่าน พระไพศาลและพระลูกวัดเพิ่งเสร็จสิ้นจากการดับไฟป่าบนภูเขาที่เกิดขึ้นเป็น ประจำทุกปีในช่วงหน้าแล้ง ... เป็นงานหนักที่ห่างไกลจากการรับรู้ของผู้คน

 

บางคนเรียกท่านว่า "พระอนุรักษ์" ด้วยเห็นท่านสนใจการดูแลรักษาป่า ตัวท่านเองบอกว่านอกจากกิจกรรมเรื่องป่าและการไปบรรยายในงานอบรมต่าง ๆ เป็นประจำแล้ว กิจธุระยามนี้เกี่ยวข้องกับความตายค่อนข้างมาก มีญาติโยมมานิมนต์ให้ไปเทศน์แก่คนป่วยหนักใกล้ตายไม่เว้นแต่ละวัน เพราะความตายคือปลายสุดของชีวิต สิ่งที่เราทำในยามมีชีวิตอยู่จึงมีผลอย่างมากต่อความตายของเรา กล่าวกันเสมอว่า เรามีชีวิตอย่างไร ก็ตายอย่างนั้น ถ้ามีชีวิตอยู่อย่างมีความหมาย ความตายก็ไม่ใช่เรื่องน่าห่วง และที่สำคัญความตายไม่ใช่จุดสิ้นสุดของชีวิต แต่เป็นจุดเริ่มต้นของชีวิตใหม่ในโลกหน้า คุณพร้อมหรือยังที่จะรู้จักความตาย

? เหตุใดอาจารย์จึงอยากให้คนทั่วไปเข้าใจเรื่องความตาย

พระไพศาล วิสาโล : ความ ตายเป็นเรื่องที่เราทุกคนต้องเผชิญ อาตมาคิดอยู่เสมอว่า เวลาความตายมาถึงเรา เราจะเผชิญความตายอย่างสงบได้อย่างไร ที่คิดถึงความตาย ส่วนหนึ่งเพราะว่าชีวิตและกิจกรรมสมัยที่อาตมาเป็นนักเรียนและนักศึกษา มีเรื่องที่ต้องเกี่ยวข้องกับความตายอยู่หลายครั้งหนุ่มสาวรุ่นอาตมาเป็น รุ่นที่มักจะเจอความตายหรือใกล้เคียงความตาย อย่างเหตุการณ์ ๑๔ ตุลา ๑๖ หรือ ๖ ตุลา ๑๙ คนที่เรามีความผูกพันด้วยโดนยิงตาย เมื่อปี ๒๕๑๘ เคยไปทำสารคดีย้อนรอยครูโกมล คีมทอง ที่ถูกยิงเสียชีวิตปี ๒๕๑๔ ที่บ้านส้อง จังหวัดสุราษฎร์ธานี เราก็ไปดูว่าหลังจากที่ โกมล คีมทอง ตายไป ๔ ปี ชาวบ้านที่นั่นเขารู้สึกยังไง ก็ไปพักที่วัดซึ่งใกล้กับเขาช่องช้าง ได้ยินเสียงปืนใหญ่ที่ฝ่ายทหารยิงสู้กับพวกคนในป่าตลอดเวลา นอกจากนั้นทางวัดยังเอาศพคนตายมาใส่ตู้ตั้งโชว์เป็นเครื่องสอนใจ บรรยากาศอย่างนั้น มันทำให้เรานึกถึงความตายมาก และก็รู้สึกว่าเรากลัว เพราะเรายังไม่พร้อมที่จะเผชิญความตาย ตอนนั้นอายุแค่ ๑๘ - ๑๙ ปี แต่มันก็เป็นเรื่องจริงจังสำหรับเรา

ช่วงนั้นกิจกรรมนักศึกษาค่อนข้างอันตราย มีคนตายบ่อย ๆ เวลามีการประท้วงที่ธรรมศาสตร์ บางครั้งพวกกระทิงแดงก็ปาระเบิดเข้ามา มีคนตาย ก่อนหน้านั้นก็มีการลอบฆ่ากันมากมาย จำได้ว่าที่รู้สึกมากคือตอนที่นักศึกษาชุมนุมประท้วงการกลับมาของจอมพล ประภาส จารุเสถียร ปี ๒๕๑๘ คืนนั้นมีพวกกระทิงแดงเข้ามาก่อกวนอยู่แถวหน้าหอประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยธรรม ศาสตร์ ดูเหมือนจะยิงปืนเข้ามาด้วย แต่ไม่มีใครตาย เราก็กังวลว่าถ้าเขาบุกเข้ามาจะทำยังไง เพราะเขาเคยมาเผาธรรมศาสตร์ทีหนึ่งแล้ว การทำกิจกรรมเหล่านี้ทำให้อาตมาใกล้ความตายหลายครั้ง จึงสนใจเรื่องความตายมาตั้งแต่ก่อนบวชพระ และก็ยิ่งได้มาเรียนรู้พุทธศาสนาซึ่งให้ความสำคัญกับเรื่องมรณสติและการ เผชิญกับความตายอย่างรู้เท่าทัน ก็เลยคิดว่ามันเป็นเรื่องที่น่าจะศึกษา ถ้าเราต้องมาเป็นมะเร็ง หรือเกิดอุบัติเหตุกะทันหัน เราจะทำยังไง ทั้งหมดคือความสนใจส่วนตัวที่ทำให้รู้สึกว่าเราต้องเตรียมพร้อมที่จะเผชิญ ความตายด้วยใจสงบ อย่างมีสติ ตอนหลังได้แปลหนังสือเรื่อง The Tibetan Book of Living and Dying หรือ ประตูสู่สภาวะใหม่ และ เหนือห้วงมหรรณพ มีบางคนที่ได้อ่านหนังสือแล้วก็ติดต่อขอให้อาตมาไปช่วยแนะนำพ่อแม่ของเขาที่ ใกล้ตาย ก็เลยทำให้อาตมาสนใจเรื่องการช่วยเหลือผู้ใกล้ตายมากขึ้น

? ทำไมคนเราต้องเตรียมตัวตายด้วยใจสงบครับ

พระไพศาล วิสาโล  : พุทธ ศาสนาสอนว่าถ้าเผชิญความตายด้วยใจสงบหรือวางจิตให้เป็นกุศล จิตก็จะไปสู่สุคติได้ มีตัวอย่างมากมายในพระไตรปิฎก มีคนที่ทุกข์ทรมานมาก แต่ในจังหวะสุดท้ายก่อนที่จะตาย ได้เห็นธรรมจากความเจ็บความปวด เข้าใจแจ่มชัดถึงอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เห็นความไม่เที่ยงของสังขารว่าไม่น่ายึดถือ จิตก็หลุดพ้นได้ นอกจากนั้นจากการที่อาตมาได้ประสบสัมผัสด้วยตัวเอง ทำให้เห็นถึงอานิสงส์ของการประคองใจให้สงบก่อนตาย มีเพื่อนใกล้ตัวหลายคนเสียชีวิตไป ล่าสุดคือ สุภาพร พงศ์พฤกษ์ เป็นมะเร็งที่เต้านมมา ๑๑ ปี และเพิ่งมาลุกลามเมื่อ ๒ ปีที่แล้ว ๔ เดือนสุดท้ายป่วยหนักจนเดินไม่ได้ ต้องนอนอย่างเดียว จึงเตรียมตัวที่จะเผชิญกับความตาย โดยยอมรับว่ามีโอกาสรอดน้อยมาก ขณะเดียวกันเพื่อน ๆ ก็ช่วยกันสร้างบรรยากาศที่เอื้อให้เธอสามารถทำใจให้สงบได้ ปรากฏว่าเธอยอมรับความตายโดยไม่ทุรนทุราย และจากไปอย่างสงบได้ในที่สุด นี่เป็นตัวอย่างของคนที่พร้อมจะตายอย่างสงบโดยไม่คิดพึ่งเทคโนโลยี ส่วนคนที่พร้อมจะดูแลเพื่อนที่ประสงค์จะตายในลักษณะนี้ก็มีอยู่ เราจึงน่าจะช่วยกันให้ความรู้และฝึกอบรมเพื่อให้ผู้คนมีทักษะในเรื่องนี้กัน มาก ๆ เพราะว่าเดี๋ยวนี้คนป่วยประมาณ ๙๐ เปอร์เซ็นต์ตายที่โรงพยาบาล ส่วนใหญ่ตายเพราะโรคเรื้อรัง คนเหล่านี้มีเวลาที่จะเตรียมตัวเผชิญกับความตายได้ เพราะไม่ได้ตายแบบปุบปับไม่ทันรู้เนื้อรู้ตัว ซึ่งมีน้อย ไม่ถึง ๑๐ เปอร์เซ็นต์