เรื่องที่ธรณีสงฆ์ประวัติวัดโสมนัสวิหาร

ทางวัดได้ดำเนินการเรื่องที่ธรณีสงฆ์กับทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่งได้เช่าไปเป็นเวลานาน จึงได้ถอนการจัดผลประโยชน์จากกรมการศาสนา มามอบถวาย หม่อมเจ้าชัชวลิต เกษมสันต์ ทรงช่วยดำเนินการจนสำเร็จเรียบร้อยในชั้นศาล แล้วได้ปรับปรุงสัญญาเช่ากันใหม่ พอสมควรแก่สภาพปัจจุบัน และท่านก็ไม่ได้ทรงคิดผลประโยชน์ตอบแทนจากวัดเลย ซึ่งเป็นที่ชื่นชม และถวายอนุโมทนาของพระภิกษุสามเณร ในวัดโสมนัสวิหารเป็นอย่างยิ่ง และในการนี้ พันตรี หลวงอมรินทร์รักษา (เนื่อง เกตุนิมิ) ซึ่งเป็นไวยาวัจกร ได้เป็นกำลังอีกผู้หนึ่ง

เนื้อที่ธรณีสงฆ์ของวัดโสมนัสวิหาร

เนื้อที่ธรณีสงฆ์ของวัดโสมนัสวิหารทั้งหมดตามโฉนด มีดังนี้

  • ๑. ที่ดินข้างวัดฝั่งตะวันตก (ด้านถนนราชดำเนิน) เลขที่ดินที่ ๔๓ โฉนดที่ ๑๕๖๔ เนื้อที่ ๑๐ ไร่ ๑ งาน ๙๓ ตารางวา
  • ๒. ที่ดินทางด้านเวทีมวยราชดำเนิน เลขที่ดินที่ ๔๔ โฉนดที่ ๓๑๔๒ เนื้อที่ ๔ ไร่ ๗๒ ตารางวา
  • ๓. ที่ดินข้างวัดด้านระหว่างถนนนครสวรรค์กับวัด (ด้านนางเลิ้ง) เลขที่ดินที่ ๓๖ โฉนดที่ ๓๑๓๕ เนื้อที่ ๙ ไร่ ๒ งาน ๙ ตารางวา
  • ๔. ที่ดินหลังวัดระหว่างถนนพะเนียง กับคูวัด เลขที่ดินที่ ๔๑ โฉนดที่ ๓๑๓๖ เนื้อที่ ๑ ไร่ ๑ งาน ๗๓ ตารางวา ในปัจจุบันใช้เป็นลานจอดรถ  ของฌาปนสถานกองทัพบก หลังจากที่ผู้เช่าที่ปลูกบ้านเดิมได้รื้อบ้านย้ายออกหมดแล้ว
  • ๕. ที่ดินฝั่งตลาดนางเลิ้ง ขนานกับถนนนครสวรรค์ ๓ เส้น ๘ ตารางวา ลึกเข้าไปตามแผนที่ในโฉนด เลขที่ดิน ๑๐๔ โฉนดที่ ๕๑๖๐ เนื้อที่ ๗ ไร่  ๒๐ ตารางวา
  • ๖. ที่ดินข้างถนนพะเนียงติดกับพื้นที่ของ น.ส. ประทิน สถาปิตานนท์ เป็นรูปชายธง ๒ แปลง รวมเนื้อที่ ๒๒ ตารางวา คือ
  • ๖.๑ เลขที่ดินที่ ๑๐๙ โฉนดที่ ๕๐๖๐ เนื้อที่ ๑๘ ตารางวา
  • ๖.๒ เลขที่ดินที่ ๑๑๐ โฉนด ๕๑๖๒ เนื้อที่ ๔ ตารางวา
  • ๗. ที่ดินที่บางแค อำเภอภาษีเจริญ จังหวัดธนบุรี ซึ่งเกิดจากผลนิธิของวัด เลขที่ดินที่ ๕๑ โฉนดที่ ๒๗๑๒ มีเนื้อที่ ๖ ไร่ งาน ๔๐ ตารางวา
  • ๘. ที่นาที่หมู่ที่ ๑๖ ตำบลคลองสาม สกัดหกสายบน (คลองประตูน้ำประอินทร์) ใกล้วัดสว่างพบ ระหว่างคลองสาม กับคลองสี่ อำเภอคลองหลวง  จังหวัดปทุมธานี มีเนื้อที่ ๑๐๐ ไร่ นางแป้นเป็นผู้ถวายเมื่อ พ.ศ.๒๔๗๒

ที่ธรณีสงฆ์ทั้งหมดนี้ เฉพาะที่อยู่ตำบลวัดโสมนัส ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ได้เช่าจากวัด ซึ่งผู้จัดการมหามกุฎราชวิทยาลัยเป็นผู้แทนวัด มีเนื้อที่ ที่เช่าไปตามแผนที่หลังสัญญาเช่า นอกนั้นทางวัดได้จัดโดยมีไวยาวัจกรเป็นผู้จัดการในความควบคุมของเจ้าอาวาส และพระกรรมการควบคุมผลประโยชน์ ของวัด ที่สวนบางแคได้จัดสรรให้เช่าเป็นราย ๆ ส่วนที่นาที่จังหวัดปทุมธานี กรมการศาสนาเป็นผู้จัดการ

ตึกแถวให้เช่า

ทางวัดได้สร้างตึกแถวให้เช่า ในเนื้อที่ของวัดริมถนนกรุงเกษม ด้านสะพานเทวกรรม มี ๑๕ ห้อง ด้านสะพานมัฆวาฬมี ๒๐ ห้อง รวม ๓๕ ห้อง การก่อสร้างสำเร็จเรียบร้อยเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๗ ตึกแถวริมถนนพะเนียงตรงข้ามกับเวทีมวยราชดำเนิน ผู้เช่าที่ดินวัดได้สร้างถวาย รวม ๕ ราย และตึกแถวซึ่งสร้างขึ้นในที่ดินที่ถูกไฟไหม้ ข้างโรงพักเก่านางเลิ้งจำนวน ๔๕ ห้อง ก่อสร้างเรียบร้อยในปี พ.ศ. ๒๕๑๗

สำนักชีวัดโสมนัสวิหาร

สำนักชีวัดโสมนัสวิหาร ได้มีมาแล้วตั้งแต่ยุคแรกที่วัดนี้สร้างขึ้นมา ตั้งแต่อยู่นอกกำแพงวัดและนอกคูวัดทางด้านทิศใต้ติดกับคูวัดทางด้านข้างคณะ ๔ วัดโสมนัสวิหาร ตั้งอยู่ในเนื้อที่ประมาณ ๑ ไร่เศษ มีอาณาเขตและรั้วเป็นขอบเขตของสำนักชีโดยเฉพาะ ไม่ปะปนกับเขตที่อยู่อาศัยของชาวบ้าน แม้จะอยู่ใกล้กันก็ตาม ได้เป็นที่อยู่อาศัยของแม่ชีหรืออุบาสิกาผู้เข้ามาอยู่ เพื่อประพฤติพรหมจรรย์ ศึกษาและปฏิบัติธรรมมาเป็นเวลานานกว่า ๑๐๐ ปีแล้ว แต่จะตั้งราว พ.ศ. เท่าไร ยังไม่มีหลักฐานปรากฏชัด เป็นเพียงแต่เล่าสืบต่อกันมาว่า สำนักชีวัดโสมนัสวิหาร ได้มีมาแล้วตั้งแต่สมัยสมเด็จพระวันรัต (ทับ) เจ้าอาวาสรูปแรกของวัดนี้

สิ่งก่อสร้างในสำนักชีวัดโสมนัสวิหาร ที่ก่อสร้างไว้สมัยแรก ๆ เป็นเรือนไม้ จึงผุพังชำรุดไปหมดแล้ว ตามสภาพของสังขารทั้งปวง ซึ่งเป็นของไม่จีรังยังยืน เที่ยงแท้แน่นอน เมื่อได้บูรณะซ่อมแซมขึ้นมาใหม่ก็ได้ทรุดโทรมไปตามลำดับกาล ปัจจุบันเสนาสนะหรือสิ่งก่อสร้างมีอยู่ทั้งหมด ๖ หลัง คือเป็นกุฏิที่อยู่ประจำ ของแม่ชี ๔ หลัง โรงครัว ๑ หลัง และหอสวดมนต์ ๑ หลัง สำหรับหอสวดมนต์นั้นเพิ่งสร้างขึ้นใหม่โดยสร้างเสร็จเมื่อปี ๒๕๒๙ เป็นตึก ๒ ชั้น ขนาด ๑๔ x ๘ เมตร ชั้นบนเป็นที่ทำวัตรสวดมนต์และทำกรรมบานซึ่งเป็นห้องโถงใหญ่ และมีห้องเล็กเก็บของ ๑ ห้อง และห้องน้ำ ๑ ห้อง ส่วนชั้นล่าง มี ๒ ห้อง เป็นห้องรับแขก ๑ ห้อง และพักรับแขกที่มาพักค้างคืน ๑ ห้อง แต่แขกที่มาพักต้องเป็นสตรีเท่านั้น หอสวดมนต์หลังนี้สินเงินค่าก่อสร้างทั้งหมด ๖๒๐,๒๙๐ บาท (หกแสนสองหมื่นสองร้อยเก้าสิบบาท) เงินทั้งหมดโดยจากการบริจาคของท่านผู้มีจิตศรัทธา โดยที่ท่านเจ้าคุณพระกิตติวรประสาธน์ (อิ่ม อรินฺทโม ป.ธ. ๕) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดโสมนัสวิหาร เป็นผู้ควบคุมและดำเนินการในการก่อสร้างจนแล้วเสร็จ ทำให้สำนักชีแห่งนี้ มีหอสวดมนต์เป็นของตนเอง และให้ความสะดวกแก่แม่ชีผู้อยู่อาศัยและผู้มาบำเพ็ญบุญเพิ่มขึ้น เช่นฤดูเข้าพรรษาของทุกปี จะมีอุบาสิกามาพักค้างเจริญภาวนาเป็นประจำ มากบ้างน้อยบ้าง โดยมีการอบรมกรรมฐานด้วย

ในปัจจุบัน สำนักชีวัดโสมนัสวิหาร มีแม่ชีมะลิ ศิลวัตร เป็นหัวหน้า เพราะทุกชุมนุมชนย่อมมีหัวหน้า ทั้งนี้ก็เพื่อให้มีหัวหน้าดูแลรับผิดชอบให้เกิดความ ระเบียบเรียบร้อยของสำนัก ตามที่ทางวัดได้วางระเบียบไว้ หัวหน้าแม่ชีคนแรกของวัดโสมนัสวิหารคือใคร ยังไม่มีหลักฐานปรากฏ รู้แต่เพียง ๓ ท่านเท่านั้น คือ

  • ๑. แม่ชีกิมเจ็ง ศรีสุชาติ ได้เป็นหัวหน้าแม่ชีอยู่ก่อนแม่ชีละม่อม
  • ๒. แม่ชีละม่อม จันทร์แสงฉาย ได้เป็นหัวหน้าแม่ชีมานานที่สุด คือตั้งแต่ปี ๒๔๗๕ โดยประมาณ จนถึงปี ๒๕๒๗ ท่านมีอายุยืน ๑๐๑ ปีเศษ  และเป็นแม่ชีที่ใจเย็นใจบุญ ไม่หลงลืมแม้จะชรามากแล้วและมีคนนับถือมาก
  • ๓. แม่ชีมะลิ ศิลวัตร ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าแม่ชีวัดโสมนัสวิหารมาตั้งแต่ปี ๒๕๒๘ จนถึงปัจจุบัน

การบำเพ็ญประโยชน์ของแม่ชี

นอกจากจะได้ศึกษาเล่าเรียนธรรมศึกษารักษาศีล ไหว้พระสวดมนต์ ท่องบ่นภาวนาไปตามหน้าที่และกำลังความสามารถของตนแล้ว บางคนก็เรียนบาลี จนสอบได้บาลีศึกษา ๕ ของทางมหามกุฏราชวิทยาลัยก็มี บางคนก็เรียนอภิธรรมจนถึงจบอภิธรรมมัชฌิมโท มหาโท หรืออภิธรรมบัณฑิตก็มี ส่วนการทำ ประโยชน์ให้แก่วัดนั้น ก็เป็นกำลังในการไหว้พระสวดมนต์และในการรับศีลอุโบสถทุกวันธรรมสวนะเป็นกำลังในการฟังเทศน์ซึ่งวัดโสมนัสวิหารจัดตลอดรุ่ง ใน วันมาฆบูชา วิสาขบูชา และอัฏฐมีบูชา เป็นกำลังในการแนะนำชักชวนคนมาทำบุญในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เป็นกำลังในการแนะนำสั่งสอนคนที่เข้า บวชชีชั่วคราว หรือบวชอยู่นานหรือตลอดไปให้เข้าใจหลักการบวชในพระศาสนา และเป็นกำลังของวัดในเมื่อมีงานของวัดเกิดขึ้นทุกครั้ง เช่นเลี้ยง ต้อนรับ และรับสมัครผู้ที่เข้ามาฝึกอบรมกรรมฐานที่วัดโสมนัสวิหารเป็นประจำซึ่งคณะนี้ ทางวัดได้จัดขึ้นทุกวันพระ ทุกวันเสาร์แรกและเสาร์ที่สามของเดือน และยังมีหลักสูตรชั้นต้นการฝึกอบรมกรรมฐาน ๗ วัน ๓ ครั้งต่อปี คือ ต้นเดือนมกราคม ต้นเดือนเมษายน และกลางเดือนตุลาคม โดยมี พระศรีวิสุทธิกวี (พิจิตร ฐิตวณฺโณ) เป็นอาจารย์ให้การอบรม แม่ชีวัดโสมนัสวิหารก็ได้ช่วยเหลือในการฝึกอบรมนี้ทุกรุ่นทุกครั้ง รวมทั้งได้มีโอกาสฝึกอบรมตนไปด้วย

สุสานและฌาปนสถาน

กรมสวัสดิการทหารบก ได้ขอตั้งสุสานและฌาปนสถานในที่บริเวณวัดนอกกำแพงซึ่งเป็นอุปจารสีมา ด้านหลังวัดและด้านข้างวัด ตามรายการละเอียด และสัญญาเช่า ลงวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๒ ซึ่งกรมสวัสดิการทหารบกได้ดำเนินการอยู่ ณ บัดนี้

โรงเรียนประชาบาลและศูนย์เยาวชน

เดิมโรงเรียนประชาบาลเป็นเรือนไม้มุงสังกะสี ตั้งอยู่หลังวัด เมื่อกรมสวัสดิการทหารบกใช้ที่หลังวัดตั้งฌาปนสถาน ได้ขอให้กระทรวงศึกษาธิการ รื้อโรงเรียนมาตั้งหน้าวัด และให้สร้างเป็นตึกเพื่อความสง่างาม กระทรวงศึกษาธิการก็ได้สร้างเป็นตึก ๒ ชั้น ๒ หลัง เว้นลานหน้าวัดไว้เป็นสนาม ทำให้ หน้าวัดสวยงามขึ้น การก่อสร้างได้สำเร็จเรียบร้อยใน พ.ศ. ๒๔๙๕ และต่อมาทางเทศบาลก็ได้ขอจัดตั้งศูนย์เยาวชน และได้สร้างตึกที่ทำการของศูนย์ใหม่เป็น ๓ ชั้นระหว่างโรงเรียนด้านซ้ายของวัดกับถนนกรุงเกษมและได้เทพื้นคอนกรีตเป็นสนามอีกสนามหนึ่ง ต่อมากระทรวงศึกษาธิการได้รื้อโรงเรียน ๒ ชั้น ด้านขวาของวัดสร้างเป็นอาคารเรียน ๓ ชั้น มี ๒๐ ห้องเรียน ให้ช่อว่า “อาคารโสมนัสวัฒนาวดี” ตามชื่อพระนางโสมนัสวัฒนาวดี ได้ทำพิธีเปิด อาคารเรียนหลังนี้ เมื่อวันที่ ๒๔ มีนาคม ปี๒๕๑๕ และต่อมา กระทรวงศึกษาธิการได้รื้อตึกเรียน ๒ ชั้น ทางด้านซ้ายมือ สร้างใหม่เป็นอาคารเรียน

สังหาริมวัตถุ

ทางวัดได้จัดหาเครื่องใช้สอยต่าง ๆ คือ พรมลวดสีแดงปูในพระอุโบสถ อย่างเขียวปูในพระวิหารพื้นล่าง และ นายสัญญา ยมะสมิต ได้ถวายพรม ลวดสีแดงปูที่อาสนสงฆ์ในพระวิหารและได้ถวายโต๊ะทองบูชาหมู่ ๙ ในพระอุโบสถ ๑ ชุด ในพระวิหาร ๑ ชุด และนาฬิกาขนาดใหญ่ ๑ เรือน ไว้สำหรับพระวิหารในการทอดกฐินพระราชทาน ๓ ปี และยังมีสิ่งอื่น ๆ อีก เช่น พรม ๔ เหลี่ยม ถ้วยชาม เป็นต้น ทางวัดได้จัดหาไว้ เพื่อสะดวกในการบำเพ็ญกุศล เป็นจำนวนมาก

โรงเรียนพุทธศาสนาสอนวันอาทิตย์

ในเดือนกันยายน ปี พ.ศ. ๒๕๐๗ สมเด็จพระวันรัต ( จับ ฐิตธัมมเถระ ) เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน ในสมัยที่ยังดำรงตำแหน่งพระราชาคณะชั้นธรรม ที่พระธรรมวราลังการ ได้ดำเนินการจัดตั้ง โรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ของวัดขึ้น ซึ่งเจ้าพระคุณสมเด็จเองเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนแห่งนี้ มาจนถึงปัจจุบันนี้ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้การศึกษาอบรมทางพระพุทธศาสนา ตลอดจนมารยาทและวัฒนธรรมไทยให้แก่เด็กและเยาวชนของชาติง านส่วนนี้ได้อาศัยความร่วมมือร่วมใจจากหลายฝ่าย เช่น จากคณะครูโรงเรียนวัดโสมนัสจากพระเถรานุเถระและพระมหาเปรียญในวัดโสมนัสวิหาร เป็นต้น ครูส่วนใหญ่ที่ทำการสอนได้อาศัยพระมหาเปรียญในวัดทั้งสิ้น

กิจการของโรงเรียนได้เจริญก้าวหน้ามาตามลำดับ จนมีชั้นเรียนถึง ๑๐ ชั้น คือ ตั้งแต่ชั้นเตรียมพุทธศาสนาหนึ่ง ( ป. ๓ ) ถึงชั้นพุทธศาสนาแปด ( ม. ๕ และ อุดมศึกษา ) ปัจจุบันมีนักเรียนประมาณ ๔๐๐ คน ส่วนทุนมนการดำเนินงานนั้นได้ใช้ทุนของวัดเป็นส่วนใหญ่ กิจการของโรงเรียนนับว่าก่อให้เกิด ประโยชน์แก่เด็กและเยาวชนของชาติ แก่ประเทศชาติและแก่พระศาสนาโดยส่วนรวม

วัดโสมนัสวิหาร ตั้งแต่ทรงสร้างมา และเริ่มมีพระสงฆ์ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๙ เป็นต้นมา จนถึง พ.ศ. ๒๕๓๑ นี้ นับได้ร้อย ๑๓๒ ปี (ครบร้อยปี เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๙) ดังประวัติสังเขปที่แสดงมานี้.