การขอพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ ขอพระราชทานเพลิง หีบเพลิง

การขอพระราชทานน้ำหลวง ขอพระราชทานเพลิงหลวง หีบเพลิงหลวง หีบเพลิง

ผู้มีสิทธิได้รับพระราชทานน้ำหลวง เพลิงหลวง และหีบเพลิง ต้องมีตำแหน่งชั้นและยศดังต่อไปนี้

  1. พระสมณศักดิ์ ตั้งแต่ชั้น “ พระครูสัญญาบัตร “ ขึ้นไป
  2. พระราชวงศ์ ตั้งแต่ชั้น “ หม่อมเจ้า “ ขั้นไป
  3. ผู้ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์
  4. ข้าราชการพลเรือนสามัญชั้นตรี ขั้นไป
  5. ข้าราชการฝ่ายทหาร ตำรวจ ชั้นยศร้อยตรี ขึ้นไป
  6. พนักงานเทศบาลตรี ขึ้นไป
  7. ผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์เหรียญ “ เบญจมาภรณ์มงกุฎไทย “ ( บ.ม. ) ขึ้นไป
  8. ผู้มีเกียรติได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์เหรียญ “ จุลจอมเกล้า “ ( จ.จ. ) หรือ “ ตราสืบตระกูล “ ( ต.จ. ) ขึ้นไป
  9. ผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ “ รัตนาภรณ์ “ รัชกาลปัจจุบัน
  10. สมาชิกสภาผู้แทนราษฏร สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ สมาชิกสภาจังหวัด สมาชิกสภาเทศบาลที่ถึงแก่กรรมในขณะดำรงตำแหน่ง
  11. รัฐมนตรี ถึงแก่อนิจกรรมในขณะดำรงตำแหน่ง
  12. ผู้ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ เป็นกรณีพิเศษ

หมายเหตุ การขอพระราชทานเพลิงขอโดยผ่านกระทรวงเจ้าสังกัด ข้าราชการทหารบกขอได้ที่กองการฌาปนกิจ กรมสวัสดิการทหารบก

การขอพระราชทานเพลิงศพกรณีพิเศษ

  1. ผู้ที่อยู่ในราชสกุล ชั้นหม่อมราชวงศ์และหม่อมหลวง
  2. พระสงฆ์ที่พระราชาคณะพิจารณาขอพระราชทานให้
  3. พนักงานรัฐวิสาหกิจระดับสูง
  4. ผู้ที่ได้รับพระราชทานเหรียญราชรุจี เหรียญกล้าหาญและเหรียญชัยสมรภูมิ
  5. ผู้ที่ทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติ เช่น ศิลปินแห่งชาติ นักกีฬาระดับชาติ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ  อดีตสมาชิกสภาจังหวัดหรืออดีตสมาชิกสภาเทศบาล
  6. ผู้ทำประโยชน์ เช่น บริจาคร่ายกาย หรืออวัยวะ
  7. บิดา มารดาของข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ระดับ 6 หรือเทียบเท่าขึ้นไป
  8. บิดา มารดาของผู้ที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ “ ตริตาภรณ์ช้างเผือก” ( ต.ช. ) ขึ้นไป
  9. บิดา มารดาของพระสมณศักดิ์ ตั้งแต่ชั้น “พระครูสัญญาบัตร” ขึ้นไป

หมายเหตุ

  1. การขอพระราชทานเพลิงศพกรณีพิเศษ โดยติดต่อที่กองพระราชพิธี สำนักพระราชวังในพระบรมมหาราชวัง
  2. บุคคลผู้ที่ทำลายชีพตนเองไม่พระราชทานเพลิงศพ และเครื่องประกอบเกียรติยศ

เอกสารที่ใช้ประกอบหนังสือขอพระราชทานเพลิง

  1. สำเนาบัตรประจำตัวผู้ขอ หรือบัตรประจำตัวข้าราชการ
  2. สำเนาทะเบียนผู้ขอ และผู้เสียชีวิต
  3. สำเนาใบมรณบัตร

หลักเกณฑ์การรับพระราชทาน

เมื่อบุคคลผู้อยู่ในหลักเกณฑ์รับพระราชทานถึงแก่กรรมลง เจ้าภาพที่ประสงค์จะขอรับพระราชทานจะต้องดำเนินการ ดังต่อไปนี้

  1. ถ้าขอพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ เจ้าภาพ หรือทายาท จะต้องจัดดอกไม้กระทง 1 กระทง ธูปไม้ระกำ 1 ดอก เทียน 1 เล่ม มีพานรองพร้อม  ไปกราบถวายบังคมลา โดยติดต่อที่กองพระราชพิธี สำนักพระราชวัง ในพระบรมมหาราชวัง พร้อมทั้งนำใบมรณะบัตร  และหลักฐานที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ขั้นสูงสุดที่ได้รับ ไปแสดงแก่เจ้าหน้าที่ พื่อการจัดชั้นของเครื่องเกียรติยศประกอบศพ ได้ถูกต้อง ส่วนพระสงฆ์สมณศักดิ์ ไม่ต้องมีดอกไม้ธูปเทียน เป็นหน้าที่ของกรมศาสนา แจ้งการมรณภาพและของพระราชทาน
  2. เมื่อจะประกอบการฌาปนกิจ เจ้าภาพหรือทายาทผู้ประสงค์ขอพระราชทานเพลิงศพ
    1. จะต้องทำหนังสือแจ้งไปยังกระทรวงเจ้าสังกัดของผู้ถึงแก่กรรมโดยระบุ
      • ก. ชื่อ ตำแหน่ง ชั้น ยศ ของผู้ถึงแก่กรรม
      • ข. ถึงแก่กรรมด้วยโรคอะไร ที่ไหน เมื่อใด
      • ค. ได้รับประราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ อะไรบ้าง
      • ง. มีความประสงค์จะขอรับพระราชทานเครื่องเกียรติยศประกอบศพอย่างใดบ้าง
      • จ. ประกอบการฌาปนกิจศพที่วัดไหน จังหวัดไหน วันเวลาใด
    2. ติดต่อทางสุสานวัด เพื่อประกอบการฌาปนกิจ การขอพระราชทานเพลิงศพนั้น จะต้องไม่ต้องกับวันเฉลิมพระชนมพรรษา ของ  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และวันเฉลิมฉลอง ศิริราชสมบัติ พระราชพิธีฉัตรมงคล ผู้มีสิทธิได้รับพระราชทานเพลิง  ถ้าจะประกอบการฌาปนกิจนอกเขตกรุงเทพมหานคร ทางสำนักพระราชวัง จะได้จัดหีบเพลิงให้กระทรวงเจ้าสังกัด  รับส่งไปพระราชทานเพลิง ถ้าหากเจ้าภาพมีความประสงค์จะให้เจ้าภาพมีความประสงค์จะให้เจ้าพนักงานเชิญเพลิงหลวง  ไปพระราชทาน เจ้าภาพจะต้อง จัดพาหนะมารับ-ส่ง และกลับ ในวันเดียวกัน ถ้าประกอบการฌาปนกิจใบเขตกรุงเทพมหานคร สำนักพระราชวังจะได้จัด เจ้าพนักงานเชิญ เพลิงหลวง ไปพระราชทาน โดยรถยนต์หลวง สำหรับเครื่องประกอบ เกียรติยศ ได้แก่ หีบ โกศ ฉัตรตั้ง นั้น ทางสำนักพระราชวังจะได้เชิญไปประกอบ และแต่งตั้งไว้ มีกำหนดเพียง 7 วัน เมื่อพ้นไปแล้วเจ้าภาพ หรือทายาทยังไม่กำหนดพระราชทานเพลิง ถ้าทางราชการ  มีความจำเป็นจะถอนส่วนประกอบ ลองนอกของหีบ โกศไปใช้ในราชการต่อไป

ระเบียบการขอรับหีบเพลิงพระราชทาน

เนื่องจากปัจจุบันมีผู้ขอพระราชทานเพลิงศพจำนวนมาก เลขาธิการพระราชวังได้มีบัญชาว่า เพลิงที่พระราชทานไปเผาศพ ณ วัดที่อยู่ห่างจาก พระบรมมหาราชวังนอกรัศมี ๕๐ กิโลเมตร ให้จัดเป็นหีบเพลิงพระราชทานมอบเจ้าภาพเชิญไปดำเนินการเอง โดยไม่มีเจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังไปปฏิบัติ ดังนั้นกองพระราชพิธี จึงได้กำหนดระเบียบการขอรับหีบเพลิงพระราชทาน ดังนี้

  1. ให้เจ้าภาพศพไปติดต่อขอรับหีบเพลิงพระราชทาน ที่กองพระราชพิธี สำนักพระราชวัง
  2. ในกรณีที่เจ้าภาพไม่สามารถไปรับหีบเพลิงพระราชทานด้วยตนเอง จะมอบให้ผู้อื่นไปรับแทนก็ได้ โดยนำต้นเรื่องหนังสือมอบฉันทะและ  สำเนาบัตรประจำตัวผู้แทนไปแสดงต่อเจ้าหน้าที่
  3. เจ้าภาพหรือผู้แทน ควรไปรับหีบเพลิงก่อนกำหนดวันพระราชทานเพลิงอย่างน้อย ๓ วัน
  4. ผู้ที่มารับหีบเพลิงควรแต่งกายสุภาพ
  5. ให้รับหีบเพลิงพระราชทานที่โต๊ะหมู่หน้าพระบรมฉายาลักษณ์

ข้อแนะนำการปฏิบัติเกี่ยวกับพระราชทานหีบเพลิงไปพระราชทานยังต่างจังหวัด

ตามระเบียบที่สำนักพระราชวังได้วางไว้ เมื่อกระทรวงเจ้าสังกัดหรือผู้ว่าราชการจังหวัด ได้มีหนังสือแจ้งมายังสำนักพระราชวัง เพื่อขอพระราชทาน เพลิงศพ หากศพ นั้นอยู่ในเกณฑ์ ที่จะได้รับพระราชทานเพลิงศพ สำนักพระราชวัง จะมีหนังสือแจ้งให้กระทรวงเจ้าสังกัดหรือผู้ว่าราชการ แล้วแต่กรณีตาม ที่ขอมานั้น ให้ส่งเจ้าหน้าที่ไปขอรับหีบเพลิงพระราชทานได้ที่กองพระราชพิธี สำนักพระราชวัง เมื่อทางจังหวัดได้รับหีบเพลิงพระราชทานไปแล้ว ต้อง ปฏิบัติตามลำดับขั้นตอนดังนี้

  1. เชิญหีบเพลิงพระราชทานไปไว้ที่ศาลากลางจังหวัดหรืออำเภอแล้วแต่กรณี โดยตั้งไว ้ในที่อันควรและให้มีพานรองรับหีบเพลิง  พระราชทานนั้นด้วย
  2. เมื่อรับหีบเพลิงพระราชทานไปแล้วควรมีหนังสือแจ้งให้เจ้าภาพศพนั้นๆ ทราบว่าตามที่ขอพระราชทานไปนั้น ว่าได้ทรงพระกรุณา  โปรดเกล้าฯ พระราชทานให้แล้ว
  3. เมื่อถึงกำหนดวันที่ขอพระราชทานเพลิงศพ ให้ทางจังหวัดหรืออำเภอจะต้องจัดเจ้าหน้าที่แต่งเครื่องแบบปกติขาว ไว้ทุกข์  เพื่อเชิญหีบเพลิงพระราชทานพร้อมด้วยพานรอง (หนึ่งหีบต่อหนึ่งคน) ไปยังเมรุที่จะประกอบพิธี และก่อนที่จะเชิญขึ้นไปตั้งบนเมรุนั้น  ควรให้ศพ ขึ้นตั้งบนเมรุให้เรียบร้อยเสียก่อนแล้วจึงเชิญพาน หีบเพลิงพระราชทานวางเรียบร้อยแล้ว ให้ผู้ที่เชิญไปคำนับเคารพศพ  หนึ่งครั้ง แล้วจึงลงจากเมรุ
  4. ขณะที่เชิญพานหีบเพลิงพระราชทานไปนั้น จะต้องระมัดระวัง กิริยามารบาทโดยสำรวม และไม่ต้องทำความเคารพผู้ใด  และไม่ต้องเชิญหีบเพลิง พระราชทานเดินตามหลังผู้หนึ่งผู้ใดเป็นอันขาด
  5. เมื่อถึงกำหนดเวลาพระราชทานเพลิง ให้เจ้าภาพเชิญแขก ที่มาในงานนี้ที่อาวุโสสูงสุดในที่นั่นขึ้นเป็นประธานจุดเพลิง  (ถ้าหากในที่นั้นมีพระราชวงศ์ ตั้งแต่หม่อมเจ้าขึ้นไป ก็ขอให้เชิญพระราชวงศ์ผู้นั้นขึ้นเป็นประธานในพิธี)
  6. ในระหว่างเวลาที่เจ้าภาพเชิญประธาน ขึ้นเมรุไปปฏิบัติหน้าที่ตามข้อ ๕ นั้น ให้เจ้าหน้าที่ผู้เชิญหีบเพลิงพระราชทานนั้นขึ้นไปรออยู่  บนเมรุก่อน เมื่อผู้เป็นประธานทอดผ้าบังสุกุลและพระภิกษุสงฆ์ให้ชักผ้าบังสุกุลไปแล้ว ให้เจ้าหน้าที่เชิญ  หีบเพลิงเปิดฝาหีบเพลิงแล้วเชิญไปมอบให้ประธานจุดพระราชทานเพลิงศพ
  7. ผู้เป็นประธาน ก่อนที่จะรับสิ่งของในหีบเพลิงพระราชทาน ผู้เป็นประธานยกมือถวายบังคม (ไหว้) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก่อน  จึงหยิบเทียนชนวน มอบให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้เชิญหีบเพลิงถือไว้ ประธานหยิบไม้ขีดไฟ ซึ่งอยู่ในหีบเพลิงพระราชทาน จุดเทียนที่เทียน  ชนวนแล้วหยิบดอกไม้จันทน์ ธูปไม้ระกำและเทียน (ที่มัดรวมกันอยู่) ขึ้นมาต่อไฟจากเทียนชนวน แล้วนำไปวาง ที่กองฟืนหน้าหีบศพ  เสร็จการแล้ว คำนับศพหนึ่งครั้ง เป็นอันเสร็จพิธีพระราชทานเพลิงศพ